เพราะเรายังต้องเดินไปด้วยกัน
-
หัวใจเดียวกันและพันมือ : International Spiritual Volunteers Club (ISV)
ตลอดอาชีพ “ครู” ที่ต้องอยู่กับเด็ก ตั้งแต่อนุบาล ถึง มหาวิทยาลัยกว่า 23 ปี เราเห็นความเติบโตของเด็กๆ หลากหลายด้าน เด็กมีความฉลาดทางเทคโนโลยีกว่ารุ่นเรามากจริงๆ แต่ความพุ่งของอารมณ์ ทำให้ขาดการเข้าหากันแบบ “รู้เขา รู้เรา” ทำให้อยู่ดีดี จากเดิมเป็นคนข้างเดียวกันก็ทะเลาะแล้วแยกยืนเป็นฝ่ายตรงข้าม
เราที่เป็นผู้ใหญ่เองก็เช่นกัน คงต้องมี “ขันติ” มากขึ้น และ “ฟังคนตรงหน้าด้วยหัวใจ” คำหยาบคาย คำลบหลู่ที่เราไม่ชอบ ในฐานะคนเป็นครูต้อง “ฟัง” หน้าที่ของครู คือการ ให้ information ไม่เพียงแค่พูดตามคิดเท่านั้น เพราะน้ำหนักคำพูดของเรา อาจจะทำให้เด็กเชื่อ แต่ก็ย้อนส่งถึงพฤติกรรมที่เราเคยปฏิบัติมาด้วย เช่น หากเราพูดถึง”ความพอเพียง” ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสอนสั่งไว้ แต่เราไม่ได้ใช้ชีวิตแบบนั้น เรายังคงติดหนี้ ยังคงฟุ่มเฟือย ยังคงหลงอารมณ์เป็นอาจิณ อย่าลืมว่า เด็กๆ เกิดไม่ทันเราจริงๆ ความพยายามที่พูดกันไว้เยอะ หรือเพราะเราท่องต่อๆ กันมา แต่เด็กก็ไม่เชื่อว่า เราพูดออกมาจากหัวใจที่สัมผัสได้จริง
ถ้าผู้ใหญ่ 'พูด' เพื่อเด็กให้เข้าใจ การพูดนั้นต้องมีกติกากัน คือ
Share : คุณอยากแบ่งปันอะไร ที่จะเกิดความสร้างสรรค์
Care : conversation ของผู้ใหญ่ จะต้องไม่ทำให้คนตรงหน้าเจ็บช้ำน้ำใจ ติได้ แต่อย่าเหยียบกันให้จมดิน ต้องมีทางให้คนต้องหน้าแก้ไขตัวได้ และต้องประณีประนอม
Respect : respect ทั้งในความคิด วิธีการ และบริบทองค์รวมในการทำหน้าที่ของคนตรงหน้า การที่ใครสักคนจะ Respect และหันมาฟังเรา คงต้องมาจากการทำหน้าที่ที่สมบูรณ์ของเรา เช่น ถ้าเราเป็น นักเรียน ก็ต้องไม่มาสาย ตั้งใจเรียน ถ้าเราเป็นลูก ก็ต้องรับผิดชอบเรื่องส่วนตัว มีวินัยในการเก็บกวาดที่นอน ห้องของตน และช่วยเหลือพ่อแม่ได้ตามกำลังของตนบ้างแล้ว ถ้าเราต้องทำหน้าที่มากขึ้นในฐานะของการแสดงความคิดเห็นทางสังคม เราก็จะได้รับการ respect จากผู้ใหญ่ที่จะฟังเรามากขึ้น เชื่อครูเถอะ ครูก็เคยเป็นเด็กมาก่อน ถ้าเรายังไม่เข้มแข็งกับการดูแลตัวเองให้ได้ ผู้ใหญ่ก็ไม่ฟังเรา
ย้อนกลับมาทางผู้ใหญ่บ้าง
ถ้าเราอยากให้เด็ก respect เราต้องทำหน้าที่ ที่ได้รับในทุกบทบาท อย่างมี “สติ” จริงๆ เพราะเรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในยุค 5G ทุกพฤติกรรมของเรา เด็กสามารถสืบค้น และย้อนกลับมาเทียบ ว่า “สิ่งที่เราทำ และสิ่งที่เราพูด” ตรงกันไหม
สุดท้าย ครูคนนี้ อยากให้เด็กๆที่ครูเคยสอน รู้ว่า การเห็นต่าง ไม่ได้ทำให้เราอยู่ตรงข้ามกัน แต่ครูแค่ขอร้องว่า การใช้ภาษาที่ไม่เหยียบย่ำหัวใจกัน จะทำให้หนูๆทุกคนปลอดภัย ส่วนพี่พี่ เพื่อนๆ ลุงป้าน้าอาที่หัวใจจะวายไปหลายครั้ง เมื่อเห็นโพสต์เขย่าใจจากคนเห็นไม่ตรงกัน ขอให้ พลังแห่ง”ขันติ” ของทุกท่านมีมากขึ้น ใช้ความกรุณา ให้มาก กว่าที่เคยมาก..... อย่าปิดประตูใส่กัน
แต่ต้องลองคิดว่า เราจะใช้ “วิกฤตเป็นโอกาสได้อย่างไร” ให้เรายังได้เดินไปด้วยกัน
การสื่อสารที่ฟังกันด้วยหัวใจ สำคัญที่สุดในตอนนี้นะคะ