จัดใจเราเพื่อเข้าใจโลกอย่างที่โลกเป็น...แล้วใจจะไม่เป็นทุกข์
เมื่อใดก็ตามที่เราไม่จมอยู่กับเรื่องราวเดิมๆ อย่างทุกข์เหมือนเดิม เราจะแก้ไขปัญหาได้
แสดงว่ากิจต่อ ‘ทุกข์’ ที่เรากำหนดรู้อยู่มันจะเริ่มเปลี่ยนแปลง
กิจต่อ ‘สมุทัย’ คือละวางและเปลี่ยนแปลง
เมื่อทำกิจต่อทุกข์คือกำหนดรู้ ไม่หนี แต่กลับไปเผชิญ เรียนรู้ กำหนดรู้
กิจต่อสมุทัยคือเหตุแห่งทุกข์ เช่นเคยเจ้าอารมณ์ ก็ไม่เจ้าอารมณ์ กลับมาใจเย็นๆ มีวินัยมากขึ้น
ถ้าเหตุเปลี่ยน ‘นิโรธ’ เป็นรางวัล คือพ้นทุกข์
อยู่กับเรื่องเดิมแต่ไม่ทุกข์เหมือนเดิม
และมีกิจต่อ ‘มรรค’ ที่เป็นหนทางคือปัญญา ศีล สมาธิ คือ ภาวนา
มรรคไม่ได้พูดถึงเรื่องนั่งหลับตา
แต่มี ‘สัมมาทิฏฐิ’ ทุกข์มีไว้ให้เห็น ไม่ได้มีไว้ให้เป็น
มี ‘สัมมาสังกัปปะ’ คือไม่มุ่งร้ายไม่เบียดเบียนในกามคุณห้า
ที่ตามองเห็น หูได้ยินเสียง ลิ้นลิ้มรส กายกระทบ แล้วหลงอารมณ์ และมีสัมมาวาจา ใช้วาจาสื่อสารให้ดี
มี ‘สัมมามรรค’ ตั้งแต่สัมมาทิฏฐิ สัมมาวาจา ศีลก็มาเลย
มี ‘สัมมาวาจา’ เป็นศีล ไม่พูดร้าย ไม่เบียดเบียน ไม่กระแหนะกระแหน ไม่แพร่ข่าวสารที่ไม่รู้จริง
มี ‘สัมมากัมมันตะ’ คือไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่สำส่อนทางเพศ
มี ‘สัมมาอาชีโว’ คือละการเลี้ยงชีวิตด้วยตัณหา
มี ‘สัมมาวายามะ’ คือไม่ทำงานไปตกนรกไป ละอกุศลได้ ทำกุศลที่ไม่เคยเกิดให้เกิดขึ้น และรักษากุศลให้ยั่งยืน นี่คือสมาธิอันแรกที่ไม่ต้องนั่งหลับตา
จากนั้นก็มี ‘สัมมาสติ’ คือมีสติปัญญารู้ว่ากายไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง จิตไม่เที่ยง ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง
มี ‘สัมมาสมาธิ’ คือมีความบริสุทธิ์ตั้งมั่น ควรแก่การงาน ทั้งหลับตาและลืมตา ทั้งยืนเดินนั่งนอน ทั้งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม